top of page
01.jpg
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนKrissaka VCS

4 เรื่องที่ควรรู้ก่อนจดลิขสิทธิ์เพลง

อัปเดตเมื่อ 12 ธ.ค. 2563


หลายๆคนที่เป็นนักแต่งเพลง ทำเพลงเอง หรือศิลปินรุ่นใหม่ๆ อาจเคยคิดเรื่องการไปจดลิขสิทธิ์เพลง แต่คงมีคำถามหลายข้อในหัว กับทั้งที่สิ่งอาจจะไม่เคยคิดมาก่อน แต่ก็ควรรู้เอาไว้ ผมเลยถือโอกาสที่เปิดเวบใหม่นำประสบการณ์มาสรุปแชร์กันละกันครับ


1. ลิขสิทธิ์ มีอยู่ในตัวชิ้นงานเองอยู่แล้ว ไม่ต้องจดก็ได้

นี่เป็นเรื่องที่หลายคนไม่รู้ ลูกค้าก็ถามกันมาอยู่บ่อยๆ หลายๆคนคิดว่า ต้องไปจดก่อนถึงจะมีลิขสิทธิ์ ที่จริงการไปจดกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่ใช่การจดลิขสิทธิ์ครับ แต่เป็น "การจดแจ้ง" เพื่อให้เค้ามี database รับรู้ไว้เฉยๆ แต่ถ้าถึงขั้นตอนที่มีคดีความกับคู่กรณีกันขึ้นมา มันแค่เป็นหลักฐานชิ้นนึงเฉยๆครับ สุดท้ายมันก็จะว่ากันด้วยหลักฐานหลายๆชิ้นประกอบกันอยู่ดี ว่าใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์กันแน่ ซึ่งอาจจะมาจาก ไฟล์เพลงต้นฉบับในเครื่อง วันที่ของสื่อออนไลน์ที่ลงเพลงไป ฯลฯ

ฉะนั้น ถ้าหลายๆคนคิดว่าจะต้องเสียเวลาไปจดลิขสิทธิ์ทุกๆเพลง จริงๆไม่ต้องก็ได้ครับ


2. จดทีละหลายๆเพลง คุ้มเวลากว่า

สืบเนื่องจากข้อแรกครับ ยังไงมันมีลิขสิทธิ์ในตัวอยู่แล้ว มันไม่ต้องรีบก็ได้ เพราะเป็นแค่การจดแจ้งเฉยๆ แล้วเวลาทำทีนึงค่อนข้างเสียเวลาและยุ่งยากมาก เอกสารก็ค่อนข้างจะต้องเป๊ะมากๆ ทำผิดไปหน่อยกลับไปทำมาใหม่ (ใครอยากรู้ขั้นตอน จดลิขสิทธิ์ยังไงไม่ให้งง ใน blog website เก่าของ verycatsound ตามไปอ่านได้ใน link) ฉะนั้น เวลาคิดจะทำที pack ไปเยอะๆ ทีละอัลบั้มเลยน่าจะดีกว่าครับ แม้แต่ค่ายใหญ่ๆหลายๆค่าย ยังไม่จดเลยครับ


3. ลิขสิทธิ์เพลงของไทย ไม่เหมือนกับสากล

นี่ก็อีกเรื่องที่ค่อนข้างมีความสับสนกันมาก โดยปกติแล้ว ถ้าคนทำเพลง นักแต่งเพลงทั้งหลาย เราจะรู้ว่ากัน เวลาเขียน credit ในผลงาน มันจะมีลิขสิทธิ์แยกส่วนเป็น "เนื้อร้อง" , "ทำนอง" , "เรียบเรียงดนตรี" แต่กฏหมายลิขสิทธิ์ของไทยนั้นไม่ใช่เลยครับ มีหลายๆอย่างที่ข้อกำหนดมันค่อนข้างแปลก และไม่ตรงกับสากล ยกตัวอย่างเช่น ลิขสิทธิ์ แบ่งเป็น

- เนื้อร้อง ( ในที่นี้หมายความถึง คำร้องที่แต่งเพื่อประกอบทำนอง )

- ทำนอง ( ในความหมายของลิขสิทธิ์ไทย ไม่ได้แยกว่าคือ เมโลดี้หลัก อย่างเดียว แต่หมายความถึงดนตรีด้วย )

- เรียบเรียงดนตรี ( ไม่มีหัวข้อนี้ให้จดตรงๆ )

- แผนภูมิเพลง ( หมายความถึง การเรียบเรียงเสียงประสานดนตรีที่มีการบันทึกออกมาเป็น Full Score และจำเป็นต้องส่งหลักฐานเป็น Full Score ด้วย )

- โน๊ตเพลง ( หมายความถึง โน๊ตของเครื่องดนตรี Solo ชิ้นเดียวที่มีอยู่ในเพลงนั้นๆ )


....นั่นแหละครับ จะเห็นได้ว่า สับสนวุ่นวายและแบ่งแยกไว้ค่อนข้างแปลก นี่ยังไม่รวมรายละเอียดย่อยๆ พวกลิขสิทธิ์การบันทึกเสียง หรือรีมิกซ์ อะไรอีกนะ

จุดสังเกตอีกอย่างคือ เนื่องจากการเรียบเรียงดนตรี ถ้าจะจดต้องส่ง Full Score คนเลยไม่ค่อยนิยมจดตรงนี้เพราะค่อนข้างยุ่งยากมาก

ใครที่สงสัย สามารถอ่านข้อมูลเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ใน blog website เก่า จดลิขสิทธิ์ยังไงไม่ให้งง อย่างที่บอกไปนะครับ


4. การจดลิขสิทธิ์จริงๆแล้ว จำเป็นแค่ตอนนำไปปั๊มแผ่น

การปั๊มแผ่น CD ขาย แล้วเข้าระบบอย่างเป็นทางการ จะต้องการเลข ISRC (International Standard Recording Code) ซึ่งผู้ให้บริการที่ออกเลขนี้ให้ เค้าจะต้องการหลักฐานการจดแจ้งลิขสิทธิ์จากเรา นั่นเลยจะกลายเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้จำเป็นจะต้องจด แต่ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมาก ผู้คนก็ไม่นิยมซื้อขายแผ่น CD กันแล้ว ก็เป็นการลงเพลงใน Music Streaming ต่างๆ อาทิ Spotify , Apple Music กันซะมากกว่า

แล้วถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ปัจจุบันเลขนี้ก็สามารถ Generate ได้เอง จากผู้ให้บริการลงเพลงใน Music Streaming เจ้าต่างๆด้วย (แต่จะกำหนดเลขเองไม่ได้เหมือนการไปขอเองตามขั้นตอนจดลิขสิทธิ์)


ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการจดลิขสิทธิ์งานดนตรีกรรม


 


เปิดอย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับผู้ที่สนใจ ลองเข้าอ่านรายละเอียดได้ที่ link ครับ

ดู 5,558 ครั้ง

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด
01.jpg
bottom of page